latest Post

หมอ กับ นักเดินทาง มันไปด้วยกันได้ บทสัมภาษณ์หมอเปียง กันตพงศ์ ทองรงค์

ใครจะไปคิดว่า การเป็นหมอ กับการเป็น "บล็อกเกอร์" ท่องเที่ยว มันจะไปด้วยกันได้ แต่หมอเปียง กันตพงศ์ ทองรงค์ คนนี้สามารถทำให้สองสิ่งนี่อยู่ในตัวของเขาได้โดยสมบูรณ์แบบ เราไปรู้จักกับหมอคิวแน่น ที่เป็นนักเที่ยวตัวยงคนนี้พร้อม ๆ กับหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขากัน

แนะนำตัว
: ผมเปียงนะครับ นายแพทย์ กันตพงศ์ ทองรงค์ ปัจจุบันเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งตอนนี้ยังเป็นเจ้าของเพจ PYONG Traveller X Doctor เป็นเพจ Travel And Life Style แล้วก็เป็นเจ้าของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก PYONG See What I See ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง

ชื่อเปียงมีที่มายังไงครับ?
: ชื่อเปียงจริงๆ แล้วมีที่มาจากคำว่าเปียงยาง เปียงยางเนี่ยมันเป็นกายกรรมที่มาเล่นตั้งแต่ปี 34 เหมือนจะได้ลงหนังสือพิมพ์ด้วยสมัยนั้น คนในออฟฟิศแม่เค้าก็เลยเรียกว่าน้องเปียงยาง ก็เลยชื่อเปียงยางมาตลอดครับ แต่ว่าละไว้ว่าเปียงอย่างเดียวเพราะว่าชื่อเปียงยางมันยาวไป แล้วถ้าคนไม่รู้จักมันจะงงมากว่ามันคืออะไร ทำไมชื่อประหลาดแล้วดูตลกๆ ยังไงไม่รู้ อย่างที่สองคือจงใจให้ชื่อมันมาลอยๆ มันงงๆ กว่าเดิม ว่าจริงๆ แล้วมันแปลว่าอะไร คือเอาไว้สำหรับให้คนถามนั่นแหละครับ แล้วเราก็จะมีเรื่องเล่าอีกสเต็ปนึง ถ้าไม่ถามก็จบไป ถ้าถามก็มีเรื่องเล่า

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเป็นหมอ?
: ที่อยากเป็นหมอตั้งแต่แรกเลย คือมันเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากเป็นหมอ จริงๆ แล้วที่บ้านก็จะคอยบอกว่า มันอย่างนู้นอย่างนี้ ว่ามันมีความมั่นคงนะ เราก็ฟังมาแล้วก็ไม่ได้คิดต่อต้านอะไรตั้งแต่เด็ก อันนี้หมายถึงตอนเด็กมากๆ เลยนะ จนตอนมัธยมเพิ่งได้แรงบันดาลใจจริงๆ ว่าอยากเป็นหมอ เพราะว่าเราดูรายการทีวี ว่าหมอเค้าแบบ สามารถเปลี่ยนชีวิตคนไข้ ทำให้คนไข้เค้าจากที่จะต้องพิการ จะต้องป่วยต้องเจ็บ หมอก็มาหยุดอะไรแบบนั้นไว้ ทำให้คนไข้กลับมามีชีวิตในสังคมปกติได้ เราก็เลยคิดว่าคือหมอเนี่ยอาจจะดูไม่ได้แบบซูเปอร์ฮีโร่ แต่ว่าหมอก็เหมือนเป็นฮีโร่คนนึงที่เขามาช่วยชีวิตใครสักคนในชีวิตจริง ก็คิดว่าเป็นอาชีพที่เท่แล้วทำให้เราอยากเป็นหมอในตอนนั้น

เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบท่องเที่ยวตั้งแต่ตอนไหน?
: ไม่ได้ชอบท่องเที่ยวก่อน ชอบถ่ายรูปก่อนแล้วก็อยากจะมีรูปที่มันสวยขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยต้องหาสถานที่ใหม่ๆ โอกาสจะไปเที่ยวที่ไหนมันก็น้อย สมัยเรียนครับ มันไม่ได้มีเวลาหรือวันหยุดเยอะ ในช่วงปี 1 ถึงปี 3 แต่พอปี 4-6 เนี่ย วันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่มี คือต้องทำงานทุกวัน มันเป็นเรียนผสมทำงานครับ ตอนปี 4-6 ทีนี้พอช่วงแรกๆ ที่เรียนเราก็ไม่ได้คิดว่าจะไปเที่ยวไหน เราก็ถ่ายรูปในที่ใกล้ๆ ในกรุงเทพฯ มหาลัยในคณะ แต่ช่วงที่อยากออกไปจริงๆ ก็คือช่วงปี 4-6 เริ่มอยากออกไปข้างนอก เริ่มอยากออกไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงนั้น พอได้ออกไปสักครั้งนึง ทำให้เราได้เกิดมุมมองอะไรที่มันสวยขึ้นแล้ว รูปที่มันได้ มันดูคนละเรื่องกันเลย มันดูแปลกและมันสนุก ก็เลยอยากจะออกไปอีก จริงๆ เพิ่งไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกเมื่อตอนปี 4 ก่อนหน้านั้นไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศเลย เต็มที่แค่ไปต่างจังหวัด

ได้ข่าวว่าชอบศิลปะด้วย ชอบเพราะอะไร?
: ศิลปะเป็นความถนัดมากกว่า เป็นความถนัดตั้งแต่เด็ก เราเกิดมาด้วยเรื่องที่ว่า ชอบขีดเขียนตั้งแต่เด็กแล้วครับ ตั้งแต่สมัยประถมก็เหมือนจะไปแข่งประกวดรางวัลต่างๆ ประมาณว่าวาดภาพในงานวันแม่ อะไรแบบนั้น แล้วเราก็จะมีรางวัล เป็นรางวัลรองชนะเลิศบ้าง ชมเชยบ้าง ก็เป็นความภาคภูมิใจสมัยนั้น พ่อแม่ก็ไม่ได้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะโดยตรง เป็นผมนี่แหละที่ชอบทำมันเอง แล้วก็ตอนแรกก็ไปประกวดเล่นๆ ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ว่าเพื่อนๆ กับครูจะรู้ว่าเราเป็นคนที่วาดรูปเก่ง สมัยนั้น

การเป็นหมอกับการท่องเที่ยว เราเอาสองสิ่งนี่มาเกี่ยวโยงกันยังไงบ้างครับ?
: จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกันชัดเจนนะครับ ผมมองว่ามันเป็นงานหลักกับงานอดิเรกมากกว่า มันก็คือบุคลิกเดียวกันนั่นแหละ เพราะว่าตอนที่ตรวจคนไข้ เราก็มีความสนุกมีความร่าเริงอยู่เหมือนกัน เวลาคุยเราก็จะคุยเล่น เวลาคุยกับคนไข้เราก็จะไม่ได้เครียดอะไรกับเค้า เพราะเราก็คุยเหมือนกับคุยในเพจนั่นแหละ แต่ว่าในแง่ของเนื้องานที่ออกมาผมว่ามันคนละเรื่องกัน ผมก็แบ่งเวลาให้มันชัดเจนว่าอันนี้คือทำงาน สิ่งที่มันเชื่อมกันคือมันเสริมกันมากกว่า งานหลัก แล้วมางานอดิเรก พองานอดิเรกเราก็ชอบทำอยู่แล้ว พอชอบทำก็เหมือนเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่าง

เรื่องของเวลา ขอวิธีบริหารเวลาเจ๋งๆ ของคุณหมอสักหน่อยครับ?
: ผมคิดว่ามันต้องใช้วิธีการแบ่งที่ละเอียดที่สุดว่า เราอยากจะทำอะไรบ้างแล้วลิสต์มาเลยว่า มีกี่ข้อ สมมุติมี 10 ข้อ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนทำลงไปในตารางของระดับสัปดาห์ ถ้า 10 ข้อใน 1 สัปดาห์ไม่ได้ ต้องเป็นเดือน ถ้าเป็นเดือนไม่ได้ ก็ต้องถอยมาระดับ 3 เดือน พยายามเอา 10 ข้อเนี่ย ใส่ลงไปให้หมด อะไรที่คิดว่าสำคัญกับชีวิตตัวเอง ทั้งหมดเลย ตั้งแต่เรื่องของการทำงาน การออกกำลัง การพักผ่อน การให้เวลากับเพื่อน ให้เวลากับครอบครัว เอาทุกอย่างลงตารางไว้แล้วใส่หน่วยกิตให้มัน เช่น ให้แต้มการทำงานแค่ 10 หน่วยกิจ ให้แต้มการออกไปถ่ายรูป 4 หน่วยกิต สุดท้ายอันไหนมากอันไหนน้อย ทุกๆ หน่วยกิตจะถูกใส่ไปในตารางจนครบเดือน สามเดือนได้ พยายามแบ่งให้ละเอียดแล้วเราจะรู้ว่าเราต้องทำอะไร แล้วสุดท้ายมันจะทำได้เยอะกว่าในขณะที่ไม่ได้จัดตารางอะไรเลย ต่อให้ทำไม่หมดก็ทำได้เยอะกว่าอยู่ดี

คุณหมอคิดว่า 3 สิ่ง ที่ผู้ชายยุคนี้ควรทำให้ได้สักครั้งในชีวิตคืออะไร?
: อย่างแรก ผมคิดว่าเราควรจะสร้างอะไรของตัวเองขึ้นมาสักอย่างนึง อะไรก็ได้ที่เคลมได้จริงๆ ว่าเป็นของของเรา ไม่ได้จำกัดเลยว่ามันเป็นอะไร ขอให้มันเป็นความภูมิใจของเรา เช่น บางคนอาจจะบอกว่าการมีบ้านเป็นสิ่งสำคัญ การมีรถเป็นสิ่งสำคัญ การมีลูกเป็นสิ่งสำคัญ การมีครอบครัวก็เช่นกัน อย่างของผม การมีเพจ มีหนังสือของตัวเองก็ใช่ นั่นคือสิ่งแรกที่ควรจะต้องมี อย่างที่สองผมคิดว่าการลงทุนกับเรื่องของสุขภาพ หลายๆ คนจะมองว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญ ไม่ใช่หมายความว่าการซื้อประกันนะ มันหมายความว่า ให้เรามีความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเราเอง ในแง่ของสิ่งทั่วๆ ไป เช่น การสกรีนเบื้องต้น เช่น อาการแบบนี้น่าจะเป็นอะไร กินแบบนี้จะเป็นยังไงหรือว่า เจ็บป่วยอะไรต้องติดต่อทางไหน มันเป็นความรู้เบื้องต้นที่คนทั่วไปพึงรู้ แต่ไม่รู้เพราะไม่ได้สนใจ หลายๆ คนพึ่งแต่หมอแล้วแค่พูดว่าไม่สบาย เป็นคำตอบที่หมอขมวดคิ้วใส่เลย บอกแค่ไม่สบายแล้วหมอจะไปช่วยอะไรคุณได้ คุณต้องบอกว่าคุณเป็นมากี่วัน อะไรยังไง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่หมอ ในการดูแลตัวเอง อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำรวมถึงการออกกำลังกายด้วยนะ อีกอย่างคือผู้ชายต้องเรียนรู้การอยู่ในสังคมแบบเหมาะสม คือการเข้าสังคมแบบเหมาะสมคือมันกว้างมากคำนี้ มันรวมตั้งแต่การใช้คำพูดคำจา การแต่งตัว มารยาทในสังคม มารยาทบนโต๊ะอาหาร รู้ว่างานทางการต้องแต่งตัวยังไง ออกไปข้างนอกต้องแต่งตัวยังไง ไปเที่ยวแต่งตัวยังไง ทรงผมแบบไหนเหมาะกับตัวเอง คือมันต้องดูแล คือทำยังไงก็ได้ให้เฟิร์สอิมเพรสชั่นดูดี

ยกสถานที่ที่คุณหมอชอบที่สุด ที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้?
: ทริประนองครับ มันพิเศษตรงที่คนที่ไปด้วยครับ ซึ่งคนที่ไปแต่ละทริปไม่ซ้ำกันเลย บังเอิญมากที่มันไม่ซ้ำกันเลย ไม่ใช่เพราะเราเปลี่ยนกลุ่มบ่อย แต่มันเป็นเรื่องของเวลาเราไม่ได้มีขนาดนั้น ชนิดที่ว่าการที่ไปเที่ยวกับใครสักคนมันต้องว่างตรงกัน ถ้าถามว่าชอบอันไหนมากที่สุด ผมชอบอารมณ์ตอนที่ไปเที่ยวระนอง ชอบเพราะว่ามันเป็นทริปบล็อกเกอร์ ที่ทาง ททท. ติดต่อมา เค้าพาไปเที่ยวเมืองรอง เราก็เจอกับบล็อกเกอร์อีก 10 เพจ ทีนี้ทั้ง 10 เพจก็ยังเป็นคนสนิทที่ยังติดต่อกัน แล้วหนึ่งในนั้นกลายมาเป็นเพื่อนสนิทเลยชนิดที่ว่าแซงหน้าเพื่อนที่เคยสนิทมาก่อน ทั้งๆ ที่รู้จักกันแค่ทริปนี้ เหมือนมีคลื่นสมองแบบเดียวกัน มีอะไรคล้ายๆ กัน ชอบอะไรเหมือนกัน เป็นทริปที่เจอคนแปลกหน้าที่สนุกมาก

เรื่องไม่คาดฝันที่เคยเจอตอนที่ได้ท่องเที่ยว?
: ในหนังสือผมเล่าไว้ มันจะเป็นการสปอยล์มั้ย (หัวเราะ) มันเป็นแค่เรื่องตลกๆ คือปกติระบบ carry on เวลาเราไม่ได้โหลดกระเป๋า เราจะถือขึ้นไปบนเครื่องบิน แล้วหลายๆ คนมันเกิน 7 กิโล หลายๆ คนก็เกิน ทุกคนก็รู้แต่ไม่มีใครโดนชั่ง แต่มีครั้งนึงที่ผมไปญี่ปุ่นแล้วกระเป๋ามันเกิน ตอนนั้นเวลามันใกล้ๆ จะปิดเกตอยู่แล้วประมาณ 10 นาที แล้วกระเป๋าที่โหลดไปมันเกินน้ำหนักซื้อมาน้อยเกินไป แล้วมีของฝาก มันเกินมาระดับ 5 กิโลซื่งมันเกินมาเยอะเหมือนกัน แล้วด้วยความที่ขี้เหนียว ไม่อยากซื้อน้ำหนักเพิ่ม ก็เลยออกมานอกแถวแล้วก็กลับไปที่เคาท์เตอร์ไปชั่งใหม่ปรากฏว่าน้ำหนักมันโอเคแล้ว ทีนี่เค้าก็ถามน้ำหนักมันไปไหน มันก็อยู่ใน carry on ไงครับ เค้าก็ขอชั่ง carry on ก่อนจะเอาของไปใส่มันก็เกินตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอใส่อีก 5 กิโล ตอนนั้นก็เลยเพิ่มไปเกือบ 15 โล เท่านั้นแหละ สรุปว่าตอนนั้นทิ้งยับเลย เอาทุกอย่างที่ใส่ได้ออกมาใส่ ทั้งเสื้อผ้า ทั้งรองเท้า ทั้งกล้องมาคล้อง จริงๆ ถ้ายอมเสียเงินก็จบแล้ว

ฝากหนังสือ ฝากช่องทางการติดตามคุณหมอ?
: ก็ขอฝากหนังสือผม ก็เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกในชีวิตครับ มันเป็นเรื่องราวที่ต่อมาจากในส่วนของการรีวิวในเพจ ปกติในเพจก็จะพูดถึงการรีวิวเรื่องท่องเที่ยว แทรกด้วยเรื่องหมอหน่อยๆ แต่ไม่มีใครรู้ว่า กว่าที่จะได้ไปเที่ยวแบบนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีความยากขนาดไหนในแต่ละทริป หนังสือเล่มนี้มันเหมือนเป็นส่วนต่อขยายในรีวิวทุกตัว ในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งเพจขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่งานหนักที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ ช่วงนั้นวันหยุดแทบไม่มีเลย งานก็หนัก ก็อยากให้รู้ว่ามันมีความน่าสนใจตรงนั้นอยู่ ซึ่งเรื่องราวตรงนั้นก็ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน แล้วก็ขอฝากช่องทางติดตาม ตามนี้เลยครับ

FACEBOOK – PYONG Traveller X Doctor
INSTAGRAM – pycaptain
YOUTUBE CHANNEL – PYONG : Traveller X Doctor

RUSH#115 May

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของนิตยสาร RUSH ได้ที่
Facebook : facebook.com/RUSHmag
IG : instagram.com/rush_magazine_official/
RUSH VDO 
seeme.mthai.com/ch/rush

In focus,RUSH Variety,exclutive,interview,pyong,rush,กันตพงศ์ ทองรงค์,ท่องเที่ยว,บล็อกเกอร์,หนังสือ,หมอเปียง

About TheeWay

TheeWay
Recommended Posts × +